วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

กลูต้าหลบไป ทรานซามิน อันตรายเจ้าใหม่ มาแล้ว


กลูต้าไธโอน (Glutathione) หลบไป ชั่วโมงนี้ตัวใหม่มาแรง ทรานซามิน (Transamin) เม็ดละไม่ถึงสิบบาทกำลังฮอตฮิตสุดๆ !
     
       
โดยเฉพาะในแวดวงชาวเกย์ กะเทย ผู้หญิง เนรมิตผิวขาวจั๊วะหลังกินเพียงไม่กี่เม็ด จากการที่มาตรการรัฐสั่งคุมเข้มการขายยากลูต้าไธโอน ส่งผลให้ราคาขยับขึ้นแพงลิ่ว ยาทรานซามินที่มีราคาถูก เห็นผลเร็วกว่า และหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา จึงมีบทบาทสนองคนอยากขาวอย่างเอิกเกริกในสังคม
     
       
ยาอะไร้จะดีไปเสียหมด ประเด็นร้อนน่าผวาระวังอย่างนี้ต้องไปคุยกับ ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เป็นการด่วน !!
       คุณสมบัติแท้จริง เพื่อหยุดเลือด เรื่องผ่าตัด
       หมอสุวิรากร อธิบายว่า “ยาทรานซามินหรือยาทรานซามิค แอซิด (Tranexamic acid) ยาตัวนี้มีฤทธิ์ทำให้เลือดเเข็งตัว เช่น เวลาผู้หญิงมีประจำเดือนเยอะๆ เขาก็จะใช้ตัวนี้ หรือเวลาผ่าตัด และเลือดออกเยอะ โดยมากใช้ร่วมกับการผ่าตัดทางเดินปัสสาวะ จะใช้เป็นยาฉีดเข้าไปให้เลือดแข็งตัว ไม่ให้เสียเลือดมาก หรือพวกหมอฟันจะที่ใช้เวลาผ่าตัดเพื่อห้ามเลือด” คุณหมอ ผู้ควบตำแหน่งประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูล
     
       
โดยสรุปข้อบ่งใช้ของยาทรานซามิน คือ เพื่อรักษาในผู้ป่วยเลือดออกง่าย ใช้ในการเตรียมผ่าตัดในกรณีที่คนไข้มีแนวโน้มเลือดออกง่าย ไม่มีข้อบ่งใช้ในเรื่องผิวขาว หรือรักษาฝ้า โดยอนุญาตให้นำมาผสมในเครื่องสำอางไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นยาอันตราย ใช้ในการช่วยให้เลือดแข็งตัวเป็นหลัก
     
       “แต่มีผลข้างเคียงที่ทำให้ขาวคือ ทำให้เม็ดสีลดความเข้มลงได้บ้าง แต่หากรับประทานต่อเนื่องจะมีอาการข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียได้ (ประมาณ > 10%) ที่สำคัญคือ อาจทำให้เกิดลิ่มเลือด เพราะเป็นยาห้ามเลือดเพื่อให้เลือดแข็งตัว อาจส่งผลให้เส้นเลือดอุดตัน ยาไปสะสมในตับและไต
     
       
เชื่อว่าคุณทั้งหลายอ่านมาถึงบรรทัดนี้ต้องมีความผวากับยาทรานซามินไม่มากก็น้อยใช่ไหมคะ
     
       คุณสมบัติแถม ยับยั้งการทำงานของเม็ดสี แต่มีผลข้างเคียง..
       ทรานซามินแรกเริ่มเดิมทีมาจากญี่ปุ่น
     
       
คุณหมอเผย “ทรานซามินเริ่มมาจากญี่ปุ่น เพราะเขาทำการศึกษาเยอะมาก
     
       
คนญี่ปุ่นถ้าสังเกตจะมีพิกเมนต์ (Pigment-เม็ดสี ธาตุในร่างกายที่ทำให้คนมีผิวต่างๆ) ตรงแก้ม เป็นพวกฝ้า เขาจะมีปัญหากับตรงนี้ ส่วนทรานซามินใช้ผสมในเครื่องสำอางของญี่ปุ่นมานานแล้ว ทางญี่ปุ่นเขาศึกษาว่า ใช้แล้วยับยั้งการทำงานของเม็ดสีได้ เขาจึงนำมาใช้เป็นยาทาเพื่อรักษาฝ้ามากกว่ากิน”
     
       
ส่วนในเมืองไทยพบว่า มีการศึกษาโทษของยาทรานซามินเช่นกัน
     
       
“ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีเขามีการศึกษามานานแล้วเมื่อประมาณ 5-6 ปี ก่อน ห่วงว่ายาจะมีผลอะไร กับการแข็งตัวของเลือดหรือไม่ จึงทำการศึกษาในผู้ที่เป็นฝ้า 30 คน ให้ทานยาขนาด 1,500 มิลลิกรัม ระยะเวลา 6 เดือน ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของการแข็งตัวของเลือด แต่สรุปว่าไม่สามารถยืนยันผลการรักษาฝ้าและผลข้างเคียงได้เพราะจำนวนผู้ที่เข้าศึกษามีจำนวนน้อย และผู้ที่เข้าร่วมศึกษาเป็นผู้ที่แข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีโรคตับ ไต โรคระบบเลือด และสมอง แต่สำหรับในรายที่มีโรคประจำตัว หมอไม่แนะนำอย่างยิ่ง”
     
       
ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ รู้สึกไม่สบายใจเมื่อเห็นในเว็บไซต์ขายกันโจ๋งครึ่ม
       
       “ตรงนี้หมอไม่ค่อยสบายใจเลย ความที่เป็นยา ฉะนั้นจึงทำให้มีผลข้างเคียงได้ ดังนั้นคนที่มีโรคเลือดห้ามอยู่แล้ว คนเป็นโรคตับ โรคไต ห้าม คนที่มีแนวโน้มว่าจะมีเลือดแข็งตัวได้ง่าย ห้าม ฉะนั้นการที่เราซื้อยากินเอง หรือสั่งทางเว็บไซต์ มีอันตรายแน่นอน หมอขอเตือนด้านนี้นิดหนึ่ง
     
       
ในวงการแพทย์ ทรานซามินใช้ในกรณีคนที่เป็นฝ้า หรือในรายที่ทำเลเซอร์ เนื่องจากหลังยิงเลเซอร์จะดำก็จะให้ใช้ แต่พวกนี้จะใช้ในระยะสั้น คุณหมอเล่าคุณประโยชน์ของทรานซามินในเชิงการแพทย์ว่า
       
       “และอีกการศึกษาที่ญี่ปุ่น บอกว่า ลดการอักเสบได้ ใช้ในการรักษาของคนที่เป็นลมพิษที่เฉียบพลัน(Angioedema) ให้การรักษาอยู่ 8-34 เดือน ไม่พบว่ามีผลต่อการทำงานของตับ และระบบแข็งตัวของเลือด อันนี้เรียกว่าปลอดภัย ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้

       
       แต่ไม่ได้ปลอดภัยสำหรับคนทั่วไปที่จะเอาไปใช้กินเพื่อทำให้ผิวขาวเป็นปกติประจำวัน กินต่อเนื่องกันเป็นปี เพื่อให้ขาว อันนี้ไม่ปลอดภัย

       
       อย่างไรก็ตาม คุณหมอ บอกว่า ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์ ลองคิดดูยาทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หากเลือดไปแข็งตัวตามส่วนต่างๆของร่างกาย โทษนั้นใหญ่หลวง

       
       “สมมติว่าเราทานแล้วเลือดไปแข็งตัวที่ขา เส้นเลือดก็จะไปอุดตัน ทำให้ปวดขา หรือหากแข็งตัวที่สมอง หรือหัวใจ ยิ่งอันตรายเพิ่มขึ้นไปอีก”
     
       
สุดท้ายหมอสุวิรากรย้ำด้วยว่า
     
       
ทรานซามินเป็นยาไม่ใช่อาหารเสริม ไม่ควรซื้อทานเอง มีผลต่อการเเข็งตัวของเลือด ดังนั้นไม่ใช่วิตามินทานเพื่อให้ผิวขาว มีอันตรายและโทษมากมาย” 
     
       คุณสมบัติเด่น ซื้อง่ายราคาถูก เลยแซงกลูต้าฯ
       “กลูต้าไธโอนสำหรับฉีดไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่มาที่ไปของตัวยาฉีดไม่มีการนำเข้าที่แท้จริง ดังนั้นเราจะไม่รู้หรอกว่ามาตรฐานการผลิตนั้น ผลิตที่ไหน ผลิตได้มาตรฐานหรือไม่ และอะไรที่เป็นยาฉีดจะอันตรายอยู่แล้ว
     
       
เพราะบางคนแพ้สารกันบูดที่อยู่ในยาฉีดก็มี หรือหากผลิตไม่ได้มาตรฐานมีพวกเชื้อโรคเข้าไปนิดเดียวทำให้อันตรายได้” คุณหมอ ชี้แจงถึงเหตุที่ทำให้วัยรุ่นหันไปนิยมกินยาทรานซามิน เพราะหาซื้อง่ายกว่ากลูต้าไธโอนนั่นเอง
     
       
“บางรายฉีดยาแล้วอาจแพ้ เสียชีวิตในคลินิคได้เลย เพราะเวลาแพ้จะแพ้เเบบเฉียบพลัน ยาฉีดทุกประเภทมีสิทธิ์แพ้ได้หมด ดังนั้นเลี่ยงจากการฉีดมาเป็นการกินซึ่งผสมอยู่ในอาหารเสริม แต่ว่าต้องทานในปริมาณสูงไม่ใช่ว่าจะผิวขาวปุ้บปั้บ แต่จะค่อยๆ ขาวขึ้นมากกว่า” 
       
       ไม่ให้ครองใจคนอยากขาวได้อย่างไร ราคาถูกแสนถูกกว่ากลูต้าไธโอน แถมหาซื้อง่ายใต้ฟ้าเมืองไทย

       
       “เมืองไทยกฎหมายค่อนข้างอ่อน ถ้าเป็นต่างประเทศต้องมีใบสั่งซื้อยา ขนาดพวกโร แอคคิวเทน (Ro-accutane) พวกกรดวิตามินเอ ต้องเฉพาะหมอผิวหนังเท่านั้นที่สั่งได้ แต่ที่เมืองไทยก็หาซื้อได้เกลื่อนกลาดทั่วไป”

     
       ::หมอแนะ ทางออกปลอดภัยสำหรับสาวอยากขาว
       หากเราเมินยาทรานซามิน เพราะมีความน่ากลัวสูง ดังนั้นจะมีสารตัวใดทำให้ผิวขาวเด้งได้บ้าง คุณหมอตอบว่า
     
       
“จะมีสารเยอะมากที่เป็นไวท์เทนนิ่ง (Whitening) เช่น วิตามินซี โค เอ็นไซม์ คิวเท็น (Coenzyme Q10) อาร์บูติน(Arbutin) พวกนี้เป็นไวท์เทนนิ่งทั้งหมด แล้วแต่ว่าจะออกฤทธิ์ต้านการทำงานของเม็ดสีที่จุดไหน AHA ก็จัดเป็นไวท์เทนนิ่ง เพราะมีคุณสมบัติเป็นตัวทำให้ผิวหลุดลอกเร็วขึ้นก็ทำให้ผิวขาวขึ้น สารกันแดด ก็จัดเป็นไวท์เทนนิ่ง เพราะทำให้ผิวทำปฏิกริยากับแสงยูวีน้อยลง”
     
       
หรือแม้แต่การการทำทรีตเมนต์เพื่อผิวใส การผลักวิตามิน หรือเลเซอร์ ก็ช่วยให้ขาวได้ในแวดวงความงาม
     
       
คุณหมอแนะนำให้ทานสารพวกแอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) สารต้านอนุมูลอิสระ ประสิทธิภาพชวนน่ากิน ไม่น่ากลัว ช่วยทำให้เซลล์ผิวฟื้นฟูดีขึ้น หากโดนแดดจะไม่ค่อยคล้ำ จึงช่วยทำให้ผิวขาวขึ้น
     
       
“ทานผัก ผลไม้ ให้เยอะๆ ประเภทพวกที่มีวิตามินซี อี เอ หรือพวกอาหารเสริม ซึ่งทานต่อเนื่องในปริมาณพอเหมาะที่ทาง อย.รับรอง ทำให้ขาวขึ้นได้อาจได้ผลช้านิดหน่อย แต่ปลอดภัยกว่า” ช้าแต่ชัวร์เริ่ดกว่าเยอะ
     
       *ทากันแดดเวิร์กสุด เลี่ยง UVA ขาวดีไม่มีภัย 
       คุณหมอขอฝากถึงผู้บริโภคทั้งหลายว่า
     
       
“ต้องหาข้อมูล ความรู้ และมีความชั่งใจ ในโฆษณาชวนเชื่อ อะไรก็ตามควรทานแล้วมีประโยชน์มากกว่าโทษน่าจะดีกว่า สิ่งใดที่เราทานเข้าสู่ร่างกายมักมีผลต่อกลไกในร่างกาย สิ่งใดอันตรายถ้าไม่จำเป็นเลี่ยงได้ก็ควรจะเลี่ยง
     
       
การมีผิวขาวไม่ได้จำเป็นต่อชีวิตมาก เพราะไม่ได้เป็นอะไรที่คอขาดบาดตาย มันไม่ใช่โรค” คุณหมอให้ข้อคิดและอยากให้เปลี่ยนค่านิยมผิวขาวเสียใหม่
       
       “ดังนั้นถ้าให้หมอแนะนำหากอยากผิวขาวจริง ควรป้องกันดีกว่า คือ หลบแดด อย่าไปตากแดด ควรใส่หมวก พกร่ม ทากันแดด เพราะจัดอยู่ในประเภทไวท์เทนนิ่ง ทาง่ายทาทั้งตัวได้
     
       
หากออกแดดเยอะจริงๆ อย่างน้อย SPF 30 ขึ้นไป แต่หากกลัวดำจริงๆ จะดูแต่ SPF อย่างเดียวไม่ได้ ต้องป้องกันยูวีเอด้วย สาเหตุที่ดำเพราะยูวีเอ
     
       
SPFแทนค่าป้องกันเฉพาะ ยูวีบี ดังนั้น SPF อย่างเดียวไม่ได้ต้องดูว่าป้องกันยูวีเอได้ด้วย ปัจจุบันนี้ยากันแดดส่วนใหญ่จะบอกว่า SPF เท่าไหร่แล้วจะมี PA ก็เป็นค่าการปกป้องของยูวีเอ”
       
       แต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องทำตัวประหนึ่งแวมไพร์กลัวแสงแดดที่สว่างชอบความมืดแสงจันทร์ซะทีเดียว คุณหมอฝากว่า ควรตื่นเช้าออกมารับวิตามินดี จากแสงแดดยามรุ่มอรุณ เพื่อการรักษาภาวะสมดุลของระดับแคลเซียมในเลือดและในกระดูก
       
       “ปัจจุบันนี้เราพบว่าคนไทยขาดวิตามินดีกันเยอะ เพราะเรากลัวแดดกันสุดๆ วิตามินดีได้จากแสงแดด ดังนั้นต้องรับแดดช่วงเช้า ก่อน 9 โมงเช้า ยูวีจะไม่แรงมาก ไม่ทำให้ดำ
     
       หากเป็นในต่างประเทศจะให้เลี่ยงแดดช่วง 10 โมงเช้าถึงบ่ายสอง แต่ถ้าดูค่ากันแดดยูวีอินเดกซ์ (UV Index) จะพบว่าแสงแดดในปัจจุบันนี้กระทั่งสี่โมงเย็นของไทย ยูวีก็ยังสูงอยู่
     
       
ผิวขาวใสจริงแต่อันตรายรอบด้าน จะน็อก หรือช็อก เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ สู้ผิวไม่ต้องขาวมากแต่เนียนสะอาดแถมปลอดภัยหายห่วงด้วยจ้า
วีดีโอนายแพทย์ มาให้ความรู้



อยากขาวไหมหละ ขาวกับตาย เลือกแบบไหน ?

       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น